งานประชุมวิชาการ NCTechED16
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ ไปสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและการจัดประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางด้านการศึกษา วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การให้บริการ และการบริโภคเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างกำลังคนด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีที่มีความสามารถและทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศและโลกยุคใหม่
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัยกับเครือข่ายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ จึงได้ร่วมมือกับสมาคมครุศาสตร์อุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ดำเนินการจัด การประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 16 และการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 11 ในหัวข้อเรื่อง New-Age Engineering and Education: Driving Innovation-Based and Sustainable Economy การประชุมแบบผสมผสาน (Hybrid Meeting) ในระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2567 ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี และ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพื่อส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ให้มีความพร้อมรองรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมและบริการที่ต้องใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการผลิตและพัฒนาครูผู้สอนและผู้เรียนที่มีคุณภาพ และเปิดโอกาสให้นักวิชาการ มีเวทีนำเสนอผลงานวิจัย สร้างเครือข่ายระหว่างภาคการผลิตและสถาบันการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ อันนำไปสู่แนวทางการวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ การผสมผสานเทคโนโลยีและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและโลกในอนาคต
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ของคณาจารย์ นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
2. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ อันนำไปสู่แนวทางการวิจัย
เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ การผสมผสานเทคโนโลยีและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและโลกในอนาคต
3. เพื่อสร้างเครือข่ายความรู้ด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้แก่คณาจารย์ นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
กระบวนการตรวจสอบบทความ
บทความทุกบทความจะต้องผ่านการพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่อยู่ในวงวิชาการสาขาวิชานั้นหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อย 3 ท่าน
ด้วยการประเมินแบบผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แต่งไม่ทราบชื่อกันและกัน (Double-blinded review)