เกี่ยวกับงานประชุมวิชาการ NCTechED15
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงใกล้ชิดกันมากขึ้นโดยมีพื้นฐานจากการน้อมนำหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมคน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) และรุกไปข้างหน้าด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมในบริบทการเปลี่ยนแปลงระดับโลก (Global Megatrends)
คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มุ่งมั่นพัฒนา จัดการศึกษาทางด้านวิชาการและเทคโนโลยีในสาขาวิชาต่าง ๆ ตลอดระยะเวลากว่า 53 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้ง ด้วยความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างรัฐบาลไทย กับ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดความรู้ทางด้านความเป็น “ครูช่าง” รวมทั้งส่งเสริมให้คณาจารย์ นักศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย ให้มีความพร้อมรองรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมและบริการที่ต้องใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการผลิตและพัฒนาครูผู้สอนและผู้เรียนที่มีคุณภาพ
การประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 15 และการประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 10 ในหัวข้อเรื่อง “The New Global Megatrends and Engineering Education” จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมที่เปิดโอกาสและส่งเสริมให้นักวิชาการมีเวทีนำเสนอผลงานวิจัย สร้างเครือข่ายระหว่างภาคการผลิตและสถาบันการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ อันนำไปสู่แนวทางการวิจัยเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ การผสมผสานเทคโนโลยีและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและโลกในอนาคต
การประชุมวิชาการครุศาสตร์อุตสาหกรรมระดับชาติ เป็นงานประชุมวิชาการที่จัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องในทุกปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 15 ซึ่งคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้ร่วมกับ สมาคมครุศาสตร์อุตสาหกรรม (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ของคณาจารย์ นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
2. เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็นและประสบการณ์ อันนำไปสู่แนวทางการวิจัย เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ การผสมผสานเทคโนโลยีและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยและโลกในอนาคต
3. เพื่อสร้างเครือข่ายความรู้ด้านครุศาสตร์อุตสาหกรรมให้แก่คณาจารย์ นักการศึกษา นักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ